วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


สื่อประเภทกิจกรรม

                สื่อประเภทกิจกรรมนับเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่งเพราะมีศักยภาพสูงในการถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน  ทำให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างสนุกสนาน  น่าสนใจ  ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสร่วมในกิจกรรม

ความหมายของสื่อกิจกรรม

            สื่อกิจกรรม หมายถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์หรือเรียนรู้เนื้อหาบทเรียนด้วยการดู การฟัง การสังเกต การทดลอง การสัมผัสจับต้องด้วยตนเอง รวมถึงการร่วมแสดงความคิดเห็น การแสดงบทบาทในละคร  การละเล่น  เกม  กีฬา  การแข่งขันต่าง ๆ ตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น  ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยความเพลิด เพลิน บางกิจกรรมอาจใช้สื่อประเภทวัสดุหรืออุปกรณ์เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้และเรียนรู้เนื้อหาสาระในกิจกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  
     

คุณค่าของสื่อประเภทกิจกรรม


                สื่อประเภทกิจกรรมมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนหลายประการดังนี้

                1.    ช่วยรวมวัสดุอุปกรณ์หรือประสบการณ์ที่กระจัดกระจายไว้ในที่แห่งเดียวกัน

                2.    ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้
                3.    ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ
                4.    ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาให้เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนจากการได้สัมผัสด้วยตนเอง
                5.    เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน

       

ลักษณะสื่อกิจกรรมที่ดี


                สื่อกิจกรรมที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                1.    ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบข่ายเนื้อหา  วัตถุประสงค์  การเข้าร่วมกิจกรรม และประเมินผลกิจกรรม
       2.    ผู้เรียนได้ฝึกฝนพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้งทางด้านความรู้  เจตคติ  และทักษะผสมผสานสอดคล้องกันอย่างบูรณาการ
                3.    กำหนดเงื่อนไขสำหรับประกอบกิจกรรมไว้ชัดเจน   สามารถวัดและประเมินด้วยการสังเกตพฤติกรรมการรับรู้และเรียนรู้ของผู้เรียนได้
       4.    มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรม  ควรมีการ    กำหนดพฤติกรรมที่ถือเป็นระดับต่ำสุดที่พึงพอใจ
                5.   ใช้เวลาพอเหมาะที่ผู้เรียนจะสามารถดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จและก่อให้เกิด ความภาคภูมิใจในการเรียนรู้ได้
       6.    กิจกรรมต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทเรียนที่กำหนดไว้
                7.     กิจกรรมไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน  มีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
       8.    เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ประเภทของสื่อกิจกรรม

                สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้กับการเรียนการสอนมีหลายประเภท ดังนี้
1.      การสาธิต
2.      การจัดนิทรรศการ
3.      นาฏการ
4.      การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
5.      สถานการณ์จำลอง
6.      การศึกษานอกสถานที่

การสาธิต (Demonstration)

                การสาธิตเป็นวิธีสอนหนึ่งที่มุ่งถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียนด้วยการแสดงขั้นตอนหรือกระบวน การประกอบการอธิบายข้อเท็จจริงพร้อมกับการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้ผู้เรียนได้สังเกตไปด้วยเป็นระยะ ๆ การสาธิตใช้ได้ผลดีกับการสอนทุกระดับชั้นและทุกวิชาโดยเฉพาะกับเนื้อหาวิชาที่เป็นกระบวนการหรือลำดับขั้นตอน เช่น การปลูก  การตอนกิ่งไม้  การเล่นกีฬา  การใช้เครื่องมือต่าง ๆ     การประกอบอาหาร  เป็นต้น



            1.    คุณค่าของการสาธิต

            การสาธิตมีคุณค่าต่อกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้  
      1.1  เป็นจุดรวมความสนใจของผู้เรียน  การสาธิตที่ถูกต้องและคล่องแคล่วจะเร้าความสนใจผู้ชมได้ดีกว่าการบรรยายเพียงอย่างเดียว  ผู้ชมต่างจะเฝ้ารอผลลัพธ์จากการสาธิตอย่างใจจดใจจ่อ
      1.2   การสาธิตเหมาะกับการแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับกระบวนการได้ดี  โดยเฉพาะการสอนวิชาทักษะ  เช่น  ดนตรี  ขับร้อง  การพูด  การใช้เครื่องวิทยาศาสตร์
      1.3   การสาธิตเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยการสังเกต  วิจารณ์  อภิปรายและหลังจากนั้นอาจมีโอกาสได้ทดลองหรือการปฏิบัติด้วยตนเอง
      1.4   ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน  ทำให้เข้าใจและเรียนรู้เนื้อหาจากการสังเกตและมีส่วนร่วมในการทดลองด้วยตนเอง
        1.5   สามารถใช้สอนได้ทั้งวิชาที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบ  และวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมต้องอาศัยการบรรยายเป็นหลักสำคัญในการเรียนการสอน
        1.6   ประหยัดค่าใช้จ่าย  ทุ่นเวลา และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนได้ดี
       1.7   ลดเวลาในการลองผิดลองถูก  ทำให้ประหยัดเวลาในการเรียนรู้ของผู้เรียน
       1.8   ฝึกให้เป็นผู้มีวิจารณญาณและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง         

 

            2.    วัตถุประสงค์ในการสาธิต

        การสาธิตสามารถนำไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
                     2.1   เพื่อกระตุ้นความสนใจทั้งในขั้นนำเข้าสู่บทเรียนและขั้นการสอนเนื้อหาบทเรียน
       2.2   เพื่อถ่ายทอดความรู้  ทัศนคติ  การสร้างประเด็นให้ผู้เรียนคิดหาทางแก้ปัญหาทั้งในขั้นนำเข้าสู่บทเรียนและขั้นการสอน
       2.3  เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหา  หลักการ และความคิดรวบยอดของบทเรียนทั้ง ในขั้นการสอนและการสรุปเนื้อหาบทเรียน
       2.4 เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น  ข้อจำกัดเกี่ยวกับคุณสมบัติของเครื่องมือ  เครื่องมือราคาแพง  หรือสิ่งนั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้สอนและผู้เรียน

3.            ขั้นตอนในการสาธิต


            การสาธิตที่ดีควรมีขั้นตอนในการดำเนินงาน  ขั้น  คือ  การเตรียม  การสาธิต  และการประเมินผล  ซึ่งแต่ละขั้นมีรายละเอียด ดังนี้
         3.1   ขั้นการเตรียม

 เป็นขั้นการรวบรวมเนื้อหา  วัสดุอุปกรณ์  การซักซ้อมขั้นตอนการสาธิตก่อนลงมือสาธิตจริง  การเตรียมที่ดีย่อมทำให้การสาธิตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

                               3.1.1  กำหนดเป้าหมายของการสาธิตว่าจะให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการสาธิต
      3.1.2  จัดสถานที่ที่จะสาธิตให้เรียบร้อย  โดยอาจตั้งโต๊ะวางอุปกรณ์ให้สะดวกและง่ายต่อการหยิบใช้ ให้ผู้เรียนมองเห็นได้อย่างทั่วถึง  ถ้าหากผู้เรียนเป็นกลุ่มใหญ่อาจต้องใช้วิธีถ่ายทอดให้เห็นทางโทรทัศน์วงจรปิด      
          3.1.3    การสาธิตที่ดีและมีประสิทธิภาพในการแสดงต้องเตรียมเครื่องมือและวัสดุที่จำเป็นไว้ให้พร้อมและจัดเรียงไว้ตามลำดับการใช้ทั้งก่อนและหลัง   
     3.1.4   การเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียน  โดยบอกวัตถุประสงค์ให้ทราบ  และอาจต้องแบ่งกลุ่มผู้เรียนเพื่อให้ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
      3.1.5   ทดลองซ้อมให้เกิดความคล่องแคล่ว  มั่นใจในลำดับขั้นตอนของการสาธิต
              3.1.6   วางแผนหาวิธีกระตุ้นเพื่อดึงดูดความสนใจผู้เรียนตลอดเวลาการสาธิต                                   
              3.1.7  เตรียมเอกสารประกอบการสาธิตให้พร้อมโดยอาจเขียนลำดับขั้นตอนต่างๆ  ไว้ก็ได้

                       2.3   ขั้นการสาธิต

                         เป็นขั้นการแสดงวิธีการหรือกระบวนการประกอบการบรรยายต่อหน้าผู้เรียน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

                        2.3.1 อธิบายลำดับให้ผู้เรียนเข้าใจเสียก่อนว่าจะแสดงขั้นตอนการสอนอย่างไร โดยอาจเขียนเป็นแผนภูมิไว้บนกระ ดานดำ  แผ่นโปร่งใส  หรือเอกสารแล้วอธิบายด้วยคำพูดง่าย ๆ
            2.3.2 ขณะอธิบายครูควรใช้แผนภูมิหรือรูปภาพประกอบเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้นถ้าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากอาจต้องใช้สื่ออื่น ๆ ช่วยด้วย เช่น  ภาพยนตร์  โทรทัศน์  คอมพิวเตอร์  เป็นต้น
            2.3.3   สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง  อธิบายด้วยถ้อยคำชัดเจนจังหวะไม่ช้าหรือเร็วเกินไป   ขณะทำการสาธิตควรย้ำให้ผู้เรียนสังเกตเพื่อการเรียนรู้เป็นระยะ ๆ ไป
            2.3.4   กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและติดตามโดยวิธีถาม  เพื่อเร้าความสนใจหรือทายว่าจะเกิดอะไรขึ้น  และควรสังเกตสีหน้า  ท่าทาง  ความสนใจของผู้เรียนตลอดเวลาที่สาธิต
            2.3.5  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม  เช่น  ให้แสดงความคิดเห็น  อภิปรายซักถามปัญหาข้อสงสัยหรือลงมือทดลองปฏิบัติหลังจากการสาธิตจบลง
            2.3.6  สรุปเรื่องราวเป็นตอน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ  เมื่อจบแล้วควรสรุปสาระสำคัญอีกครั้ง  ถ้าผู้เรียนยังเข้าใจไม่ถูกต้องครูผู้สอนอาจสาธิตซ้ำอีกก็ได้

                       3.3   ขั้นการประเมินผล

                         เมื่อการสาธิตเสร็จสิ้นลงควรทำการประเมินผลทันที  ซึ่งอาจทำได้  แบบคือ

            3.3.1 ประเมินการเรียนของผู้เรียน  เพื่อให้ทราบว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามเป้าหมายที่ต้อง การหรือไม่  โดยวิธีสังเกตความสนใจ  ซักถามความเข้าใจ  ให้ผู้เรียนสรุปรายงาน  เขียนรายงาน  ทำแบบทดสอบ  หรือให้ทำการทดลองสาธิตก็ได้
                        3.3.2   ประเมินผลการสอนของครูผู้สาธิต ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่  ลำดับขั้นในการสาธิตเป็นไปตามที่เตรียมไว้หรือไม่  ผู้เรียนสนใจเพียงใด  ผู้สาธิตพอใจหรือไม่  ผู้เรียนมีโอกาสซักถามขณะสาธิตและสามารถมองเห็นได้ทั่วถึงเพียงใด

                4.   ข้อดีและข้อจำกัดของการสาธิต

                สื่อกิจกรรมประเภทการสาธิตมีข้อดีและข้อจำกัดดังนี้
                       4.1   ข้อดี
                         4.1.1   ใช้สอนเนื้อเกี่ยวกับทักษะและกระบวนการได้ดี
                                 4.1.2    สร้างความยืดหยุ่นและความคุ้นเคยระหว่างผู้สาธิตกับผู้เรียนได้
                                 4.1.3     กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจได้ดีจากการได้ฟังคำอธิบายประกอบการแสดง 
                                 4.1.4     เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง
                                 4.1.5     ค่าใช้จ่ายในการสาธิตไม่มากนักโดยทั่วไปเป็นวัสดุที่ใช้ในงานประจำอยู่แล้ว
                      4.2   ข้อจำกัด
                                 4.2.1    ต้องมีการเตรียมตัวและฝึกฝนอย่างแม่นยำ
                                 4.2.2    ต้องใช้ทักษะและความชำนาญมากในเรื่องที่สาธิต
                                 4.2.3    หากการสาธิตล้มเหลวจะทำให้คุณค่าการสอนด้อยลงทันที
                                 4.2.4   ไม่เหมาะกับการแสดงต่อหน้าผู้เรียนหรือผู้ชมกลุ่มใหญ่

การจัดนิทรรศการ

การจัดนิทรรศการ (Exhibition) หมายถึง  การจัดแสดงสิ่งของ  วัสดุ  อุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่องเพื่อเร้าความสนใจให้ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยการดู  ฟัง  สังเกต  จับต้อง  และทดลองภายใต้จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายจุดมุ่งหมาย โดยการใช้สื่อหลายชนิด เช่น  แผนภูมิ แผนภาพ  หุ่นจำลอง  ของจริง  ของตัวอย่าง  ภาพถ่าย  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบเพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้ชมรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  เช่น  การสาธิต  การแสดง  การประกวด  การตอบปัญหา  การฉายภาพยนตร์  เป็นต้น

1.   คุณค่าของนิทรรศการ


             สื่อนิทรรศการมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้
                       1.1  ช่วยรวมความคิดที่กระจัดกระจายมาสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้ถูกต้อง
                       1.2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ ฝึกความรับผิดชอบ
                       1.3   ผู้เรียนเกิดความเพลิดเพลินและมีอิสระในการรับรู้และเรียนรู้ตามความต้องการ
                       1.4   การนำเสนอกิจกรรมและสื่อที่แปลกใหม่  จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
                        1.5 นิทรรศการสามารถสื่อความหมายหรือถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมให้ปรากฏเป็นรูป ธรรมได้จากสื่อหลาย ๆ ชนิด

2.            ประเภทของนิทรรศการ


            นิทรรศการที่พบเห็นโดยทั่วไปแบ่งได้เป็นหลายประเภท  ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการจำแนกดังต่อไปนี้
                        2.1 การจำแนกตามขนาดได้แก่ การจัดแสดง(display)  นิทรรศการ(exhibition)  มหกรรม(exposition)
      2.2  การจำแนกตามวัตถุประสงค์ ได้แก่  นิทรรศการเพื่อการศึกษา  (educational  exhibition) นิทรรศการเพื่อการค้า(commercial  exhibition)  นิทรรศการเพื่อการศึกษาและการค้า (educational  and  commercial  exhibition)
       2.3  การจำแนกตามระยะเวลา ได้แก่   นิทรรศการแบบถาวร (Permanent Exhibition)   นิทรรศการแบบชั่วคราว (Non – permanent)  นิทรรศการเคลื่อนที่ (Mobile Exhibition)
      2.4 การจำแนกตามสถานที่  ได้แก่  นิทรรศการในร่ม (indoor  exhibition)  นิทรรศการกลางแจ้ง(outdoor exhibition) นิทรรศการกึ่งกลางแจ้งกึ่งในร่ม(indoor and outdoor  exhibition)

3.   หลักการออกแบบนิทรรศการ

       การจัดนิทรรศการให้มีประสิทธิภาพสามารถดึงดูดความสนใจและให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชมได้ควรยึดหลักการออกแบบดังนี้
      3.1  ความเป็นเอกภาพ (unity) หมายถึงการออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  มีความกลมกลืนกันทั้งวัตถุประสงค์  เนื้อหาสาระ  วัสดุอุปกรณ์  เวลา  สถานการณ์  สถานที่
      3.2  ความสมดุล (balance) หมายถึงการจัดให้นิทรรศการมีสัดส่วนขององค์ประกอบให้พอเหมาะสม  สวยงาม  ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย   การสร้างความสมดุลทำได้  2  ลักษณะคือ  ความสมดุลแบบสมมาตร (symmetry balance) หมายถึง การจัดให้สัดส่วนทั้งด้านซ้าย ขวาเท่ากัน  และความสมดุลแบบอสมมาตร (asymmetry balance) หมายถึง  การจัดสัดส่วนให้องค์ประกอบด้านซ้ายและด้านขวามีขนาดหรือจำนวนไม่เท่ากัน  แต่ให้ความรู้สึกสมดุลได้
      3.3  การเน้น(emphasis) เป็นการจัดสิ่งเร้าหรือองค์ประกอบให้โดดเด่นเฉพาะ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้ชมสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ การจัดนิทรรศการที่ดีนอกจากการวางแผนในการเลือกเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังสามารถเน้นให้นิทรรศการดูโดดเด่นได้ด้วย  เส้น  สี  น้ำหนัก  ทิศทาง  พื้นผิว  ขนาด  แสง  เสียง  อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกันก็ได้

3.            ขั้นตอนในการจัดนิทรรศการ

            การจัดนิทรรศการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้ชมสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่นำมาแสดงได้อย่างเพลิดเพลินควรมีขั้นตอนดังนี้

       4.1   ขั้นการวางแผน
 
               สิ่งสำคัญในการวางแผนมีดังนี้
            4.1.1   การตั้งวัตถุประสงค์  ผู้จัดนิทรรศการควรตั้งวัตถุประสงค์แน่นอนว่าจัดเพื่ออะไร  ใครเป็นผู้ชม  เวลาและสถานที่ในการจัดเหมาะสมหรือไม่
            4.1.2  การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย สิ่งที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เพศ วัย  ระดับ การศึกษา  ฐานะทางเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  เป็นต้น
            4.1.3   การกำหนดเนื้อหา   เนื้อในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์  ลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย  ระยะเวลาและเหตุการณ์
            4.1.4   การกำหนดสถานที่  สิ่งที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับสถานที่  ได้แก่  ขนาดของสถานที่  ระยะทางในการเดินทาง  ฤดูกาล   เนื้อหา  และค่าใช้จ่าย
            4.1.5 การกำหนดเวลา    ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดช่วงเวลาในการจัดนิทรรศการได้แก่ เนื้อหา  สถานที่  วัตถุประสงค์  สถานการณ์
            4.1.6  การตั้งงบประมาณ   การจัดสรรงบประมาณควรให้ครอบคลุมถี่ถ้วนและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์  เนื้อหา  บุคลากร
            4.1.7   การออกแบบนิทรรศการ  เป็นขั้นการร่างแบบเพื่อจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ดูสวยงาม  กลมกลืนน่าสนใจ โดยยึดหลักการออกแบบให้ดูแปลกตา  เรียบง่าย และสื่อความหมายดี
            4.1.8  จัดเตรียมอุปกรณ์   สิ่งของเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นตามแบบร่างและแผนงานที่วางไว้ควรจัดให้เป็นหมวดหมู่ 
            4.1.9   การประชาสัมพันธ์ ควรกระทำสองช่วงคือการประชาสัมพันธ์ก่อนการจัดนิทรรศการและการประชาสัมพันธ์ภายในงานนิทรรศการ
            4.1.10 การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ   ควรกำหนดให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่และความรู้ความสามารถของบุคลากรแต่ละคน


                  4.2   ขั้นการจัดแสดง
  
                   เป็นขั้นการนำสิ่งของต่าง ๆ  มาติดตั้งให้ดูสวยงามตามแบบร่างที่ทำไว้ในขั้นการวางแผน  หากมีการวางแผนที่ดีจะทำให้การดำเนินงานขั้นนี้เป็นไปอย่างสะดวก  การจัดแสดงให้มีประสิทธิ ภาพควรปฏิัติดังนี้
            4.2.1    การจัดวางหรือติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง  ๆ ตามที่วางแผนและออกแบบไว้  แต่สามารถปรับปรุงได้บ้างเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่จริง
            4.2.2   การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นต้องมีความมั่นคง  แข็งแรง  ต้องระวังไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายระหว่างการนำเสนอ
            4.2.3   การป้องกันอันตรายอย่างรอบคอบจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีคม  ปลายแหลม  แตกหักง่าย  อันตรายจากสารเคมี  หรือสัตว์พิษ  ควรวางให้ห่างจากทางเดินผู้ชมไม่สามารถเอื้อมสัมผัสได้
                                4.2.4   การจัดวิทยากรให้คำแนะนำประจำกลุ่มเนื้อหาหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบข้อสงสัยผู้ชมระหว่างการชมนิทรรศการ
                                4.2.5   ควรตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
                        4.2.6  การประชาสัมพันธ์ภายในต้องใช้เสียงพอเหมาะ  ไม่ควรใช้เสียงดังจนน่ารำคาญ
                        4.2.7  ควรให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มใจ ไม่ยัดเยียดให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด
                        4.2.8  ขณะลงมือปฏิบัติอาจต้องแก้ปัญหาบ้างเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์จริง

        4.3    ขั้นการประเมินผล
 
                 เป็นขั้นติดตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง ซึ่งการ ประเมินผลควรทำจากบุคลากร ส่วน ได้แก่  คณะผู้จัดนิทรรศการทุกฝ่าย  และผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย

5.   มาตรฐานในการจัดนิทรรศการ

                เกณฑ์ในการวัดการจัดนิทรรศการให้ได้มาตรฐานเป็นกฎเกณฑ์  (Criteria)  ที่จะพิจารณาดูว่าการจัดนิทรรศการนั้น ๆ มีประสิทธิภาพดีหรือไม่   ซึ่งมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
                  5.1   ต้องตระหนักว่าการจัดนิทรรศการนั้น  เป็นการจัดให้ผู้ชมดูไม่ใช่จัดให้อ่าน (an exhibition is seen not read)  ฉะนั้นจึงไม่ควรจัดให้มีตัวหนังสือมากเกินไป เพราะจะเป็นการเสียเวลาแก่ผู้ชม หลักในการจัดที่ดีต้องพยายามให้ผู้ชมเสียเวลาในการทำความเข้าใจน้อยที่สุด ถ้ามีจุดประสงค์จะให้ผู้ชมอ่านเพื่อศึกษารายละเอียด   ควรพิมพ์เป็นเอกสารหรือใบปลิวจะดีกว่า
                  5.2  ต้องดูว่าสถานที่ที่จะจัดนิทรรศการนั้นเหมาะสมหรือไม่ (exhibits where it is certain) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของสถานที่นั้น ๆ ไม่ควรจัดอยู่ในซอกมุมมากเกินไป  หรือจัดในมุมที่มีสิ่งอื่นมาบัง  จนทำให้มองไม่เห็น
                   5.3  จุดหนึ่งหรือบริเวณหนึ่งที่จัดให้คนดูจะต้องมีจุดมุ่งหมายเดียว (make only one big idea)  ถ้ามีหลายความคิดจะต้องแบ่งส่วนให้ดีอย่าให้ปะปนกันได้
                   5.4  ต้องทำสิ่งยาก ๆ ให้ดูง่าย (keep it simple)  ใช้เวลาในการทำความเข้าใจน้อยที่สุด อย่าให้เกิดความรู้สึกยุ่งเหยิงในการดูเป็นอันขาด  เพราะเนื่องจากเราไม่สามารถจะทราบได้ว่าผู้ชมจะมีความรู้สึกระดับไหน  เราจึงควรพยายามจัดให้ดูง่ายไว้ก่อน
                 5.5  การใช้สีเป็นการกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชมเป็นอย่างดี (color is an important adjust  to most visuals)  ฉะนั้นในการจัดนิทรรศการเราจะต้องศึกษาในเรื่องสีพอสมควร คุณสมบัติของสีนี้จะเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของสีที่มีต่อคนด้วย
                5.6  ตัวหนังสือที่ใช้ในการจัดนิทรรศการจะต้องอ่านง่าย (labels should be uniform and legible) ไม่ใช่เขียนสวยแต่อ่านยาก  หรืออ่านไม่ออก   ตัวหนังสือควรจะเป็นแบบฟอร์มเดียวกัน
              5.7  ในการจัดนิทรรศการถ้าเราใช้การเคลื่อนไหว ต่าง ๆ (motion attracts attention)  มาประกอบด้วย  จะสามารถเรียกร้องความสนใจได้มาก  เช่น  สิ่งที่หมุนได้  หรือมีไฟกระพริบ
               5.8    ต้องคำนึงถึงเรื่องแสงสว่างเป็นสำคัญ (be sure exhibits is well lighted) ในการจัดนิทรรศการจะต้องมีแสงสว่างพอเพียง เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้ถนัดชัด

นาฏการ

            นาฏการ (Dramatization)  หมายถึงการแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวจากลีลาท่าทาง  บทบาท  ภาษาพูดของผู้แสดง  สามารถกระตุ้นความสนใจและเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี  สื่อนาฏการอาจนำเสนอด้วยสื่อของจริงหรือเสมือนของจริงก็ได้    ประสบการณ์นาฏการช่วยในการศึกษาวรรณคดี  ประวัติศาสตร์  จริยธรรม  และการสื่อสารความคิดที่เป็นนามธรรมได้ดี  เช่น  ความสามัคคี  ความกตัญญูกตเวที  ความซื่อสัตย์  การเสียสละ  ทั้งนี้เพราะสื่อนาฏการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย

          1.   คุณค่าของนาฏการ

            สื่อนาฏการมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้
       1.1                 ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจังน่าสนใจ  ประทับใจ  และจดจำได้นาน
       1.2   ส่งเสริมผู้เรียนได้ฝึกทักษะในการแสดงออกด้านภาษาและลีลาการแสดง
       1.3   ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ  โดยร่วมแสดงบทบาทตามเรื่องราว
       1.4   ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
       1.5   สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีของผู้เรียนได้
       1.6   ช่วยระบายความเครียดและตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก

2.      ประเภทของนาฏการ


สื่อนาฏการแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ  นาฏการที่แสดงด้วยคน เช่น  การแสดงละคร  ละครใบ้  หุ่นชีวิต  การแสดงบทบาทสมมุติ  และนาฏการที่แสดงด้วยหุ่น  เช่น  หนังตะลุง  หุ่นเสียบไม้  หุ่นสวมมือ  หุ่นชักใย  เป็นต้น

       2.1   นาฏการที่แสดงด้วยคน


                               นาฏการที่แสดงด้วยคนมีหลายประเภท ได้แก่
           2.1.1  การแสดงละคร (Play) เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่  อุปนิสัย  และวัฒนธรรมของตัวละคร  การแสดงละครเป็นสื่อที่จัดสภาพแวดล้อมได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงได้มากที่สุด  ความสมจริงสมจังขึ้นอยู่กับความสามารถในการแสดงและการสร้างบรรยากาศ  การแสดงละครทั่วไปคณะผู้จัดทำและผู้แสดงต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมและเตรียมการค่อนข้างมาก  ด้วยเหตุนี้การแสดงละครจึงไม่สามารถนำเสนอหรือจัดแสดงได้หลายครั้งตามต้องการ ส่วนการแสดงละครประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยทั่วไปเป็นการแสดงละครสั้น ๆ มีการแต่งกายแบบง่าย ๆ ให้พอรู้ว่าเป็นตัวละครตัวใด  จัดฉากด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นหรือบางครั้งอาจไม่จัดฉากก็ได้  การซักซ้อมไม่พิถีพิถันในการกระตุ้นความรู้สึกด้วยอารมณ์การแสดงเท่าที่ควร  เพราะส่วนใหญ่มุ่งแสดงเพื่อให้ผู้ชมเห็นประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นการชี้แนะหัวข้อสำหรับการอภิปรายหรือใช้การแสดงเพื่อสรุปความคิดหลังจากการบรรยายก็ได้  การแสดงละครสามารถใช้ประกอบบทเรียนในวิชาต่างๆได้หลายวิชา  เช่น  ภาษาต่างประเทศ  ประวัติศาสตร์  คณิตศาสตร์  สุขศึกษา   เป็นต้น
          2.1.2   ละครใบ้และหุ่นชีวิต (Pantomime and Tableau) ละครใบ้เป็นการแสดงลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวและสีหน้าให้ผู้ชมเข้าใจโดยผู้แสดงไม่ต้องใช้คำพูดเลย  การแสดงเช่นนี้ช่วยฝึกพัฒนา การด้านการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ  ผู้ชมจะเข้าใจได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะท่าทางของผู้แสดง  ส่วนหุ่นชีวิตผู้แสดงจะยืนหรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว  ไม่มีการพูด  ไม่ต้องซ้อมหรือท่องบท  ไม่ต้องใช้เครื่องแต่งกายหรืออาจใช้เครื่องแต่งกายแบบง่าย ๆ แม้นักเรียนที่เป็นเด็กขี้อายก็แสดงได้ในบางครั้ง อาจใช้หุ่นชีวิตแสดงเป็นฉากหลังหรือเป็นส่วน ประกอบของการ  แสดงละครได้
                 2.1.3 การแสดงกลางแปลง (Pageant)   เป็นการแสดงกลางแจ้งเพื่อถ่ายทอดศิลปะและวัฒน ธรรมพื้นบ้าน  ตลอดถึงประเพณีพิธีการต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยใช้ผู้แสดงหลายคน  เช่น  การทำขวัญข้าว  การฟ้อนรำพื้นเมือง  การแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ กิจกรรมลักษณะนี้ต้องลงทุนและใช้เวลาในการฝึกซ้อมมาก  อาจไม่สะดวกที่จะจัดเพื่อการเรียนการสอนโดยตรง  แต่ก็สามารถพาผู้เรียนไปดูและศึกษาในท้องถิ่นได้ตามโอกาสที่จะอำนวยให้หรืออาจศึกษาจากสื่อภาพยนตร์  ม้วนวีดิทัศน์  แผ่นซีดี ก็ได้
                 2.1.4   การแสดงบทบาทสมมุติ (Role Playing)  เป็นการแสดงโดยใช้สถาน การณ์จริงหรือเลียนแบบสถานการณ์จริงในสภาพที่เป็นปัญหามาให้ผู้เรียนร่วมกันวินิจฉัย  หาวิธี แก้ไขและตัด สินปัญหานั้นในช่วงเวลาประมาณ  10 15 นาที  การแสดงแบบนี้ส่วนมากไม่มีการซ้อมหรือเตรียมตัวล่วงหน้า  ผู้แสดงจะใช้ความสามารถและแสดงบทบาทได้อย่างอิสระ  ตามลักษณะนิสัยของแต่ละคน  การแสดงบทบาทสมมุติเหมาะสำหรับการใช้เพื่อศึกษาความคิดและเจตคติของผู้เรียน  ทั้งยังใช้ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนได้ดีด้วย เช่น  การให้ผู้เรียนออกมาแสดงมารยาทในการต้อนรับแขก    การแสดงทาทางในการรับสิ่งของจากบุคคลอื่น  เป็นต้น


 














ภาพที่  6.1   แสดงภาพนาฏการที่แสดงด้วยคน
                                 หุ่นเป็นตัวละครที่ไม่มีชีวิตเคลื่อนไหวได้ด้วยการกระทำของมนุษย์  หุ่นสร้างจากวัสดุง่าย ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดต่าง ๆ นาฏการที่แสดงด้วยหุ่นมีหลายประเภท  เช่น 
                                2.2.1   หุ่นเงา (shadow  puppet)  เป็นหุ่นที่ฉลุจากหนังสัตว์หรือกระดาษแข็งแล้วใช้ไม้ไผ่ยึดเป็นโครงสำหรับเชิด  และบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว  เวลาแสดงต้องให้ตัวหุ่นอยู่หลังจอแล้วใช้แสงส่องให้เกิดเงาบนจอ  เช่น  หนังตะลุง
                                2.2.2   หุ่นเสียบไม้หรือหุ่นกระบอก (rod  puppet)  เป็นหุ่น  3  มิติ ที่ใช้แท่งไม้เสียบกับคอหุ่นเพื่อให้ผู้เชิดถือขณะเชิดหุ่น  การทำหุ่นชนิดนี้มีตั้งแต่แบบยาก ๆ เช่น  กระพริบตา  ขยับปากได้  จนถึงแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว   เวลาแสดงหุ่นแบบนี้ผู้เชิดหุ่นจะอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที
                                2.2.3   หุ่นสวมมือ (hand  puppet)  เป็นหุ่นขนาดเล็กครึ่งตัวมีขนาดพอเหมาะกับขนาดของมือที่เชิดหุ่น   หัวหุ่นทำด้วยกระดาษหรือผ้าเป็นหัวคนหรือหัวสัตว์  มีเสื้อต่อที่คอหุ่น   ให้ลำตัวและแขนกลวงเพื่อสอดมือเข้าไปเชิดให้เกิดการเคลื่อนไหว  ตามปกติในการเชิดนิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือจะทำหน้าที่เชิดแขน  นิ้วชี้เชิดหัวหุ่น  ผู้เชิดอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที  ในบางครั้งอาจทำหุ่นสวมมือให้เป็นหุ่นที่อ้าปากได้ด้วย  ผู้เชิดก็จะใช้นิ้วมือทั้งสี่เชิดปากซีกบนและหัวแม่มือเชิดปากซีกล่าง   เนื่องจากหุ่นมือเป็นหุ่นที่ทำได้ง่าย  เชิดง่าย  จึงนิยมนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าหุ่นชนิดอื่น
                                2.2.4   หุ่นชัก (marionette )  เป็นหุ่นเต็มตัวที่ใช้เชือก  ด้าย  หรือไนล่อนผูกติดกับอวัยวะต่าง ๆของหุ่น  แล้วแขวนมาจากส่วนบนของเวที   ผู้ชักหุ่นจะบังคับเชือก  ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ทำกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้คล้ายคนจริง ๆ แต่การบังคับหุ่นทำได้ยากและต้องใช้เวลาฝึกฝนนาน  จึงไม่ค่อยได้นำมาใช้ในวงการศึกษามากนัก

การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา(Community Study)

            การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา หมายถึงการใช้แหล่งวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เพื่อขยายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวาง มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น  ถ้าได้นำแหล่งวิชาการในชุมชนมาใช้อย่างจริงจังจะก่อให้เกิดความ เข้าใจอันดีและช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้  ประสบการณ์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในโอกาสต่อไปได้อย่างดี



          1.  ประโยชน์ของการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา

                การใช้ชุมชนศึกษามีประโยชน์ต่อการเรียนรู้หลายประการดังนี้
                  1.1    ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
                      1.2 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ในชีวิตจริง ๆ เป็นการเชื่อมโยงสภาพการณ์ในห้องเรียนกับสภาพความเป็นจริง
          1.3 แหล่งวิชาการในชุมชน ช่วยขยายความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในหลักสูตรให้      สมบูรณ์ขึ้น   ช่วยให้ผู้เรียนพบเห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง
                        1.4   แหล่งวิชาการในชุมชนมีมากมายอยู่แล้วทั้งสถานที่ และบุคคล  ถ้าครูเลือก และนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะได้ผลคุ้มค่า  เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียเลย
                      1.5   เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน  ช่วยให้ผู้เรียนได้พบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เร้าความสนใจและเพิ่มพูนความเข้าใจ
          1.6   ฝึกการทำงานร่วมกันอย่างมีมนุษย์สัมพันธ์ สร้างนิสัยช่างซักถาม สังเกตพิจารณา ฝึกความรับผิดชอบ  ระเบียบวินัย  และการตรงต่อเวลา
                       1.7   เปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกทักษะการใช้ภาษาด้านการฟัง  การพูด  การเขียน  การคิดคำนวณเป็นเหตุเป็นผลเชิงคณิตศาสตร์   และการคิดเหตุผลเชิง ศิลปะและปรัชญา
                       1.8  เป็นวิธีแก้ปัญหาครูขาดความรู้ความชำนาญบางสาขาในชุมชน  ทั้งยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษาและชุมชน ซึ่งนับเป็นการประชา สัมพันธ์สถานศึกษาอย่างหนึ่ง

2.   แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชน

แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนมีหลายประเภท  กล่าวโดยสรุปคือ
                       2.1   บุคลากร ได้แก่ บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์โดยตรงในสาขาอาชีพ ต่าง ๆ เช่น  ตำรวจ  พ่อค้า นักธุรกิจ  เกษตรกร  ช่างฝีมือด้านต่าง ๆ
                 2.2  สถานที่   ได้แก่สิ่งแวดล้อมในชุมชนทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่คนในชุมชนสร้างขึ้น เช่น  ทุ่งนา  แม่น้ำ  ป่าไม้  โรงงาน  สถานที่ราชการ  สโมสร อาคารบ้านเรือน  เป็นต้น
                   2.3 วัสดุอุปกรณ์  ได้แก่สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนที่สามารถนำ มาเป็นสื่อการสอนได้  เช่น  เครื่องมือด้านการเกษตร  งานศิลปหัตถกรรมในชุมชน
                  2.4   กิจกรรมของชุมชน ได้แก่  การละเล่นพื้นบ้าน  งานประเพณี  และพิธีต่าง ๆ เช่น ประเพณีการบวช  การแต่งงาน  การทอดกฐิน  พิธีศพ  เป็นต้น
          3.   วิธีการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา

          การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษามีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
                    3.1  การศึกษาภายในบริเวณโรงเรียน  เป็นการใช้แหล่งทรัพยากรนอกห้องเรียนที่ทำได้สะ ดวกที่สุด  แหล่งวิชาการอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณโรงเรียน เช่น สนามหญ้าต้นไม้   สระน้ำ  รั้ว  แปลงผัก  สวนหย่อม 
                    3.2   การศึกษาในชุมชนใกล้โรงเรียน  เช่น  วัด  หมู่บ้าน โรงงาน  ฟาร์ม  สถานที่ราชการ    การศึกษาแบบนี้ทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย  ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าสังกัด  เพียงแต่ขออนุญาตหัวหน้าสถานศึกษาก็ใช้ได้
                    3.3   การเชิญวิทยากรในท้องถิ่นมาบรรยาย   เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยตรงแก่ผู้เรียน เช่น  ชาวสวน  ช่างไม้  เจ้าหน้าที่อนามัย   บุรุษไปรษณีย์  การจัดการศึกษาวิธีนี้ทำได้สะดวก  ลงทุนน้อย  และน่าสนใจ  แต่ควรจะเลือกเชิญผู้ที่มีความสามารถด้านการพูดบ้างจึงจะได้ผลดี
                   3.4  การไปทัศนศึกษานอกสถานที่  เป็นการพาผู้เรียนออกไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งชุม ชนอื่นที่อยู่ห่างไกลจากโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนแบบนี้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงเจ้าสังกัด (กระทรวงศึกษาธิการ) และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของผู้เรียนก่อนด้วย

สถานการณ์จำลอง

                สถานการณ์จำลอง(Stimulation) เป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้น  แล้วนำประสบการณ์แห่งความสำเร็จไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาจริง ๆ ต่อไป   การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองจึงต้องจัดประสบการณ์และกิจกรรมในลักษณะของการสร้างสถานการณ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและแก้ปัญหา ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจ กรรมการเรียนการสอน และยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน หรือผู้เรียนกับผู้เรียนให้มากขึ้นด้วย
            การจัดสถานการณ์จำลองเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่จะออกไปเผชิญกับปัญหา
จริง ๆ  เช่น   การเตรียมนักศึกษาฝึกสอน  ก่อนที่จะออกไปสอนต้องได้รับการฝึกฝนด้านวิชาการสอน  ความประพฤติ   การปกครองชั้น  ทักษะการสอน  การฝึกขับเครื่องบินจำลอง วิธีฝึกทักษะอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีคือการฝึกจากสถานการณ์จำลองนั่นเอง
          1.   ขบวนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลอง

            เมื่อเสนอสถานการณ์จำลองให้กับผู้เรียนแล้ว   ครูควรสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนแล้วให้ผู้เรียนเข้าร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แนวทางในการแก้ปัญหาโดย ทั่วไปจะประกอบด้วย
       1.1   ปัญหาคืออะไร
       1.2   สาเหตุของปัญหา
       1.3   รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
       1.4   หาทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ  ซึ่งอาจมีหลายทาง
       1.5   ตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาที่มีเหตุผลดีที่สุด
       1.6   ลงมือแก้ปัญหาตามวิธีที่เลือก
       1.7   ประเมินผลการแก้ปัญหา
       1.8   พิจารณาปรับปรุงผลของการแก้ปัญหาเพื่อนำไปใช้ต่อไป

          2.   การใช้สถานการณ์จำลองในการเรียนการสอน

                   ลำดับขั้นในการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน  ครูอาจทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
       2.1   ผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา
                       2.2 ผู้เรียนศึกษาปัญหารวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางตัดสินใจ และแก้ปัญหาตามขั้นตอน  จนกระทั่งได้ข้อสรุป การทำงานในขั้นนี้นิยมแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางของแต่ละกลุ่ม
       2.3    แต่ละกลุ่มเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนต่อชั้นเรียน
       2.4 ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันประเมินค่าโดยพิจารณาเหตุผลว่าวิธีการใดที่ดี และมีเหตุผลดีที่สุด  สำหรับการแก้ปัญหานั้น ๆ

การศึกษานอกสถานที่

          การศึกษานอกสถานที่หรือการทัศนศึกษา(Field  Trip) หมายถึงกิจกรรมที่พาผู้เรียนออกไปหาประสบ การณ์นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การไปทัศนศึกษาต่างจากการทัศนาจรโดยทั่วไปตรงที่การทัศนาจรมุ่งความสนุกสนาน  เพลิดเพลินเป็นสำคัญ     ส่วนการศึกษานอกสถานที่เน้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน  ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นสำคัญ

          1.   คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่

            การศึกษานอกสถานที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนดังนี้
       1.1   ช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง
       1.2   ช่วยให้บทเรียนมีความหมายยิ่งขึ้น
       1.3   ช่วยให้ฝึกฝนระเบียบวินัย  การตรงต่อเวลา  และมนุษยสัมพันธ์
       1.4   ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งก่อนและหลังกิจกรรมทัศนศึกษา
       1.5   ช่วยให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างเพลิดเพลิน
       1.6   ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ

          2.   ขั้นตอนในการศึกษานอกสถานที่

                   การศึกษานอกสถานที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ครู ผู้เรียน ผู้ปกครองยานพาหนะ   สถานที่หรือแหล่งศึกษา   บุคลากร   ระเบียบทางราชการ   ฯลฯ   ดังนั้นเพื่อให้การศึกษานอกสถานที่จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ   จึงควรมีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้

                     2.1   ขั้นการเตรียมหรือการวางแผน
  
                                ก่อนออกไปศึกษานอกสถานที่จะต้องเตรียมหรือวางแผน  ดังนี้
                                    2.1.1   การเตรียมสำหรับครู
                1)   กำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับบทเรียน
2)    เลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์
              3)    หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปศึกษา เพื่อทราบปัญหาต่าง ๆ
                4)    ติดต่อขออนุญาตเจ้าของสถานที่ที่จะไป  แจ้งวัตถุประสงค์จำนวนของผู้เข้าชมและวันเวลาในการเข้าชม
                5)    ตรวจสอบเส้นทาง  วางแผนการเดินทาง  และทำกำหนดการเดินทาง
                6)    ทำหนังสือขออนุญาตตามระเบียบราชการและขออนุญาตผู้ปกครอง
                7)    ติดต่อยานพาหนะที่ดีให้มีจำนวนเพียงพอ  แล้วนัดวันเวลา
                8)    กำหนดข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียน
                9)    ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปชมเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา
           2.1.2    การเตรียมสำหรับผู้เรียน
                1)    การตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการทราบอะไรจากการไปทัศนศึกษา
                2)    เตรียมปัญหาหรือคำถามเพื่อหาคำตอบกับการร่วมกิจกรรม
                                                3)    แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น  บันทึกภาพ  ซักถาม   กล่าวขอบคุณ 
                4 )   ตกลงเรื่องการแต่งกาย  มารยาท   และการวางตัวขณะฟังบรรยาย

                  2.2   ขั้นดำเนินกิจกรรม 

                                ในขั้นนี้ต้องปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ดังนี้
          2.2.1    รักษาเวลาและกำหนดการอย่างเคร่งครัด
           2.2.2    ให้ผู้เรียนได้รับความรู้จากกิจกรรมอย่างเต็มที่
           2.2.3    ผู้เรียนต้องรักษามารยาท  ให้เกียรติสถานที่  และวิทยากรตลอดเวลา
           2.2.4    เมื่อศึกษาเสร็จต้องกล่าวขอบคุณหรืออาจมอบของที่ระลึกแก่วิทยากร

                  2.3   ขั้นประเมินผลหรือติดตามผล 

                   เมื่อกลับจากการศึกษานอกสถานที่สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การจัดกิจกรรมประเมินผล ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น  การอภิปราย  เขียนรายงาน  เรียงความ  จัดป้ายนิเทศ  ทดสอบทบทวน   รวมทั้งการสรุปข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขในการจัดทัศนศึกษาครั้งต่อไป  เช่น
           2.3.1    การเตรียมล่วงหน้าดีหรือไม่
          2.3.2   วัตถุประสงค์ชัดเจนหรือไม่
         2.3.3    การปฏิบัติตามระเบียบวินัยเป็นอย่างไร
           2.3.4    การตรงต่อเวลาและกำหนดการเป็นอย่างไร
           2.3.5    เวลามากหรือน้อยเกินไป
           2.3.6    เนื้อหาสาระเหมาะสม  คุ้มค่าหรือไม่
         2.3.7    ผู้เรียนให้ความสนใจมากน้อยเพียงใด
           2.3.8    ปัญหาอื่น ๆ มีอะไรบ้าง

บทสรุป

                สื่อกิจกรรมเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรม  เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณต่าง ๆ ด้วยตนเอง   สื่อกิจกรรมมีคุณค่ามากมายในด้านส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้   ผู้เรียนจะค้นพบความรู้จากการปฏิบัติ   นอกจากนี้สื่อกิจกรรมส่วนใหญ่จะให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน   สื่อกิจกรรมที่ดีควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกำหนดขอบข่ายเนื้อหา   วัตถุประสงค์  เข้าร่วมกิกรรมและการประเมินผล   ควรเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านความรู้  เจตคติ    และทักษะอย่างบูรณาการ   ทั้งนี้ต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทเรียน   ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  อยู่ในความสนใจและมีความยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน   สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนมีหลายประเภท  เช่น  การสาธิต   การจัดนิทรรศการ   นาฏการ  การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา  สถานการณ์จำลอง  และการศึกษานอกสถานที่  เป็นต้น






หนังสืออ้างอิง

วิวรรธน์   จันทร์เทพย์. ( 2540 ). เทคโนโลยีการศึกษา.  ราชบุรี:  คณะครุศาสตร์  สถาบันราชภัฏ 
         หมู่บ้านจอมบึง.









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำถามทบทวน

1. สื่อกิจกรรมมีลักษณะอย่างไร

2. สื่อกิจกรรมมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร

3. การสาธิตมีความหมายและขั้นตอนอย่างไร

4. การจัดนิทรรศการมีความหมายและขั้นตอยอย่างไร

5. ในการจัดนิทรรศการมีเกณฑ์มาตรฐานยอ่างไร

6. สื่อนาฏการมีลักษณะอย่างไร จงยกตัวอย่างสื่อนาฏการที่แสดงด้วยคนและสื่อนาฏการที่แสดงด้วยหุ่น อย่างละ 1 กิจกรรม

7. ชุมชนเพื่อการศึกษาหมายถึงอะไร

8. การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษามีวิธีการอย่างไร

9. สถานการณ์จำลองหมายถึงอะไร มีวิธีการใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างไร

10. การทัศนศึกษานอกสถานที่ต่างกับการทัศนาจรอย่างไร และมีวิธีจัดทัศนศึกษาอย่างไร